27 จำนวนผู้เข้าชม |
ทำความรู้จัก "เด็กปรับตัวช้า" (Slow to Warm-up Child) ไม่ใช่เด็กขี้อาย แต่เป็นเพราะอะไรกันแน่?
ใบบทความนี้ ครูอาโปอยากพาคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง เปิดโลก Sensory Tactile และบทบาทของนักกิจกรรมบำบัดกันค่ะ
เคยไหมคะ? พาลูกไปสนามเด็กเล่นใหม่ๆ หรือไปงานวันเกิดเพื่อน แต่ลูกกลับเกาะขาคุณพ่อคุณแม่แน่น หลบด้านหลัง ไม่ยอมลงไปเล่นกับเพื่อนๆ บางคนอาจมองว่า "ทำไมกลัวจัง ทำไมขี้อายจังเลย" แต่จริงๆ แล้ว พฤติกรรมที่คอยสังเกตุอยู่นานๆ ไม่พุ่งเข้าไปในทันทีทันใดนี้ อาจเป็นหนึ่งในลักษณะพื้นฐานทางอารมณ์ของเด็กๆ ที่เรียกว่า "เด็กปรับตัวช้า" (Slow to Warm-up Child) ค่ะ
เด็กๆ กลุ่มนี้เปรียบเสมือนนักสำรวจที่รอบคอบ ไม่ได้ไม่ชอบสิ่งใหม่หรือผู้คน เพียงแต่ต้องการเวลามากกว่าคนอื่นๆ ในการสแกน สิ่งต่างๆ รอบตัว ประเมินความปลอดภัย และทำความคุ้นเคยก่อนที่จะตัดสินใจก้าวเท้าออกไปร่วมผจญภัย แต่คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจสงสัยว่า เอ๊ะ แล้วลักษณะนิสัยแบบนี้ ไปเกี่ยวอะไรกับ "ระบบประสาทสัมผัส" โดยเฉพาะเรื่อง "การสัมผัส" ได้อย่างไรล่ะ?
มาทำความรู้จัก "ระบบบูรณาการประสาทสัมผัสส่วนกลาง" (Sensory Integration) ของเรากันก่อนค่ะ
ลองนึกภาพสมองของเราเป็นเหมือนสำนักงานใหญ่ที่คอยรับข้อมูลจากทั่วร่างกายและสิ่งแวดล้อม ทั้งการมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรับรส การทรงตัว การรับรู้ตำแหน่งของร่างกาย (จากข้อต่อและกล้ามเนื้อ) และแน่นอนว่า... การสัมผัส
สมองมีหน้าที่นำข้อมูลสัญญาณเหล่านี้มารวมกัน จัดระเบียบ และตีความ เพื่อให้เรารู้ว่าเกิดอะไรขึ้นรอบตัว และจะตอบสนองอย่างไรให้เหมาะสม เราเรียกว่ากระบวนการนี้ว่า Sensory Integration (SI) หรือการรวมประสาทสัมผัสค่ะ เปรียบเหมือนวงออเคสตราขนาดใหญ่ ที่เครื่องดนตรีทุกชิ้น (ประสาทสัมผัสต่างๆ) ต้องบรรเลงร่วมกันอย่างกลมกลืน เพลง (พฤติกรรมและการตอบสนอง) จึงจะไพเราะค่ะ
และนี่คือตัวละครเอกของเราวันนี้ค่ะ "ระบบสัมผัส" (Tactile Sense)
ระบบสัมผัสไม่ได้มีแค่การรับรู้ว่าอะไรนุ่ม อะไรแข็งนะคะ ระบบนี้ทำงานซับซ้อนกว่านั้นมาก ผิวหนังทั่วร่างกายของเรามีตัวรับสัมผัสที่คอยบอกสมองว่ามีแรงกดเท่าไหร่ ร้อนหรือเย็น เจ็บหรือไม่เจ็บ และที่สำคัญคือ พื้นผิว ต่างๆ เป็นอย่างไร ระบบสัมผัสนี้สำคัญมากๆ เพราะมันช่วยให้เรารู้ขอบเขตของร่างกายตัวเอง รู้สึกปลอดภัย และเรียนรู้ที่จะโต้ตอบกับโลกใบนี้ผ่านการสัมผัส
แล้วความไวต่อสัมผัส ไปเชื่อมกับ "เด็กปรับตัวช้า" ได้อย่างไร?
นี่คือจุดที่น่าสนใจค่ะ สำหรับเด็กๆ บางคน วงออเคสตราประสาทสัมผัสอาจมีเครื่องดนตรีบางชิ้นที่เสียงดังเกินไปหรือเพี้ยนไปบ้าง และบ่อยครั้งมักเกิดขึ้นกับเครื่องดนตรีที่ชื่อว่า "ระบบสัมผัส" โดยเฉพาะเด็กที่มีภาวะ "ไวต่อสัมผัสมากเกินไป" (Tactile Hypersensitivity / Tactile Defensiveness)
เด็กกลุ่มนี้อาจรู้สึกไม่สบายตัวอย่างมาก หรือถึงขั้นรู้สึกเจ็บปวด/ถูกคุกคามจากสัมผัสที่คนทั่วไปรู้สึกเฉยๆ เช่น
- การถูกสัมผัสตัวเบาๆ อย่างไม่ทันตั้งตัว เหมือนมีอะไรมาไต่ยั้วเยี้ย
- พื้นผิวเสื้อผ้าบางชนิดที่สาก ระคายเคือง หรือมีตะเข็บ
- การเล่นเปื้อน หรือการสัมผัสกับวัสดุที่มีพื้นผิวแปลกๆ เช่น ทราย สีเปียก ดิน
- การถูกกอดโดยคนที่ไม่คุ้นเคย หรือการอยู่ในที่ๆ มีคนเบียดเสียด
ทีนี้ ลองนึกภาพนะคะ เมื่อเด็กๆ ที่มีความไวต่อสัมผัสมากเกินไป ต้องไปอยู่ในสถานการณ์ใหม่ๆ ซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้และคาดเดาไม่ได้ ทั้งผู้คนมากมายที่อาจเดินเฉียดไปมาแล้วเผลอโดนตัว พื้นผิวของเล่นชิ้นใหม่ หรือแม้แต่พื้นผิวของพื้นหรือเก้าอี้ที่ไม่คุ้นเคย
สำหรับเด็กๆ สถานการณ์ใหม่ๆ เหล่านี้ไม่ได้น่ากลัวแค่เรื่องไม่คุ้นเคย แต่ยังเต็มไปด้วย ระเบิดสัมผัส ที่อาจสร้างความไม่สบายตัวอย่างรุนแรง พฤติกรรมลังเล ถอยห่าง หรือสังเกตการณ์อยู่นานๆ จึงไม่ใช่แค่ความขี้อาย แต่อาจเป็นกลไกที่ร่างกายและสมองใช้ในการป้องกันตัวเองจากการรับสัมผัสที่พวกเขารู้สึกว่า ทำไมมันไม่ปลอดภัยเลย ต่างหากค่ะ
เด็กๆ ไม่ได้ไม่อยากเล่น ไม่ได้ไม่อยากเข้าสังคม แค่ร่างกายมันส่งสัญญาณเตือนว่า อันตรายนะ สัมผัสพวกนี้ทำไมมันทำร้ายเราจัง การปรับตัวช้าจึงกลายเป็นวิธีหนึ่งที่พวกเขาใช้ในการจัดการกับความรู้สึกทางประสาทสัมผัสนี้
แล้วนักกิจกรรมบำบัด (Occupational Therapist) จะเข้ามาช่วยได้อย่างไร?
นักกิจกรรมบำบัดผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กที่มีความเข้าใจด้าน Sensory Integration จะเป็นผู้ช่วยที่จะมาช่วยปรับจูนวงออเคสตราประสาทสัมผัสของเด็กๆ ให้กลับมาบรรเลงได้ไพเราะอีกครั้งค่ะ
- นักกิจกรรมบำบัดจะเริ่มต้นด้วยการประเมินอย่างละเอียด เพื่อทำความเข้าใจว่าระบบประสาทสัมผัสส่วนไหนของเด็กที่มีปัญหาในการประมวลผล โดยเฉพาะด้านสัมผัส เพื่อให้รู้ว่าต้นตอของปัญหาอยู่ที่ไหน
- ห้องกิจกรรมบำบัด (Multi-Sneosry Room) มักเต็มไปด้วยอุปกรณ์มากมายที่ออกแบบมาเพื่อกระตุ้นและจัดระเบียบระบบประสาทสัมผัส กิจกรรมที่ใช้จะเป็นการเล่นที่สนุก ปลอดภัย และท้าทายเด็กในระดับที่พอดีๆ