กิจกรรมบำบัดคืออะไร?

24436 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กิจกรรมบำบัดคืออะไร?

What is OT ?
กิจกรรมบำบัด คืออะไร ?

    "กิจกรรมบําบัด" หมายถึง การกระทําเกี่ยวกับความสามารถของบุคคลที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย จิตใจ การเรียนรู้และการพัฒนาเกี่ยวกับเด็ก โดยกระบวนการตรวจประเมิน ส่งเสริม ป้องกันบําบัด และฟื้นฟูสมรรถภาพ ให้สามารถทํากิจกรรมต่างๆ ได้ เพื่อให้บุคคลดําเนินชีวิตได้ตามศักยภาพ โดยใช้กิจกรรม วิธีการ และอุปกรณ์ที่เหมาะสมมาเป็นวิธีการในการบําบัด

Cr.พระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. ๒๕๔๒ 

____________________________________


    นักกิจกรรมบำบัด คือบุคลากรทางการแพทย์ที่นำเอากิจกรรมต่างๆและอุปกรณ์มาเป็นสื่อในการบำบัดรักษาผ่านเทคนิคและวิธีการที่เฉพาะเจาะจงกับบุคคลนั้นๆ เพื่อเสริมสร้างทักษะต่างๆและส่งเสริมให้เกิดการดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข 

    นักกิจกรรมบำบัดทุกคน ต้องมีความรู้ในวิชาชีพ คือเป็นผู้ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญา สาขากิจกรรมบําบัดจากสถาบันการศึกษาที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขากิจกรรมบําบัดรับรอง และ ต้องสอบความรู้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขากิจกรรมบําบัดกําหนด

    สําหรับผู้สําเร็จการศึกษาจากต่างประเทศซึ่งมิได้มีสัญชาติไทย ต้องได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะสาขากิจกรรมบําบัดจากประเทศที่สําเร็จการศึกษาด้วย


กิจกรรมบำบัด เราบำบัดใครบ้าง?

บุคคลในทุกช่วงวัย ที่มีความยากลำบากในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต
เด็ก  : กิจกรรมบำบัด ส่งเสริมพัฒนาการรอบด้าน ทักษะการเรียน การรับรู้ การใช้ความคิดเชื่อมโยง การเล่น การเข้าสังคม เช่น พัฒนาการล่าช้า สมาธิสั้น ออทิซึม เป็นต้น
ผู้ใหญ่ : กิจกรรมบำบัด ส่งเสริมฝึกทักษะการใช้มือในการทำกิจวัตรประจำวันหรือกิจกรรมต่างๆ การเคลื่อนย้ายตัว ฝึกการกลืน การสื่อสารเบื้องต้น การรับความรู้สึก การรับรู้และความเข้าใจ เช่น ผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บไขสันหลัง เป็นต้น
ผู้สูงอายุ : กิจกรรมบำบัด ส่วนใหญ่จะเน้นคงความสามารถของสมองและการทำงานของร่างกายในการทำกิจวัตรประจำวัน การทำงานอดิเรก กิจกรรมยามว่าง การพูดคุยทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งการฟื้นฟูสภาพจิตใจ ส่งเสริมความรู้สึกถึงความภาคถูมิใจ การมีคุณค่าในตัวเองและใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างมีความสุข
ผู้ที่มีความเจ็บป่วยทางจิต : นักกิจกรรมบำบัดก็ deal นะคะ เราเป็นเหมือนทีมสร้าง skills ก่อนกลับบ้าน จะมีหน้าที่ช่วยวางแผนจัดตารางการใช้ชีวิต ฝึกสุขอนามัย ทักษะการเข้าสังคม การจัดการอารมณ์ การแสดงออกอย่างเหมาะสม รวมถึงทักษะการประกอบอาชีพต่อไปในอนาคต นอกจากนี้เรายังสามารถให้ความรู้กับญาติและบุคคลทั่วไปได้ด้วยค่ะ
____________________________________


เรามีกระบวนการบำบัดอย่างไร?
กระบวนการบำบัดรักษาทางกิจกรรมบำบัด

1.การประเมิน (Assessment)
     ขั้นแรกต้องประเมินความสามารถและซักประวัติสอบถามข้อมูลเพื่อระบุปัญหาของผู้ป่วยก่อนค่ะ ขั้นนี้จะใช้เวลานานเล็กน้อยเพื่อให้ทราบรายละเอียดอาการ ข้อมูลส่วนบุคคล และข้อควรระวังทั้งหมดอย่างละเอียดยิบเลยค่ะ

2.วางแผนการรักษา (Treatment plan)
     ขั้นนี้เป็นการนำปัญหาที่ได้มาวิเคราะห์ร่วมกับอาการหรือกลุ่มโรคของผู้ป่วยเพื่อให้ทราบว่าเราจะฝึกกันได้ถึงระดับไหน แล้วญาติและผู้ป่วยคาดหวังไว้ระดับไหน เพื่อให้ทุกคนเข้าใจและมีแนวทางการรักษาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน  โดยเป้าประสงค์ในการรักษาจะมีการกำหนดระดับความสามารถและระยะเวลาในการรักษาไว้

3.การบำบัดรักษา (Treatment)
     ขั้นนี้สิของจริง เป็นช่วงที่นักกิจกรรมบำบัดจะเริ่มใช้วิทยายุทธที่มีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ช่วย เทคนิคการรักษา การปรับสถานที่สิ่งแวดล้อม การเลือกใช้อุปกรณ์ การปรับสภาพจิตใจ การเล่นการบริหาร ฯลฯ มาวิเคราะห์เป็นกิจกรรมการรักษาที่เหมาะสม นำมาฝึกให้กับคนไข้ เพื่อส่งเสริมให้คนไข้ดูแลตนเองได้ ทำกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเองให้ได้มากที่สุด และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นตามความสามารถสูงสุดของคนไข้ค่ะ

4.การประเมินซ้ำ (Reassessment)
     การเรียนต้องมีสอบ การรักษาก็ต้องประเมินผลเช่นกันค่ะ เมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนการรักษา เราจะประเมินความสามารถของคนไข้ซ้ำอีกครั้ง เพื่อให้ทราบว่าคนไข้เก่งขึ้นไหม มีความก้าวหน้าในการรักษาหรือไม่ ถ้ายังไม่เก่งตามเป้าหมายก็จะมีการปรับแผนการรักษาใหม่ แต่ถ้าดีขึ้นอาจจะเพิ่มความยากของกิจกรรมหรือเปลี่ยนเป็นกิจกรรมอื่นที่จำเป็นหรือท้าทายความสามารถมากขึ้น ปรับเปลี่ยนเพิ่มลดความถี่ในการฝึก หรือถ้าเก่งเป๊ะตามเป้าก็ยุติการรักษาได้เลยค่า

     นักกิจกรรมบำบัดมีหน้าที่นำกิจกรรมต่างๆมาใช้เป็นสื่อในการบำบัดรักษาบุคคล 1 คนในทุกช่วงวัย ที่มีความเจ็บป่วยในรูปแบบต่างๆหรือมีความต้องการพิเศษ ให้เขาเหล่านั้นสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันทำกิจกรรมต่างๆได้อย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
     ในผู้รับบริการเด็กเราจะมีหน้าที่ ประเมิน วางแผนในการบำบัดรักษาร่วมกับผู้ปกครอง ทำการฝึกให้คำแนะนำ และประเมินผลซ้ำ เพื่อให้เด็กๆมีพัฒนาการที่ดี แข็งแรงสมวัยและใช้ชีวิตอยู่ในสังคมสิ่งแวดล้อมต่างๆได้อย่างมีความสุข

 

เราทำงานกับใครบ้างหรอ?

   เยอะแยะเลยค่ะ เราทำงานร่วมกับสหวิชาชีพทางการแพทย์ อันได้แก่ แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัดนักแก้ไขการพูด นักจิตวิทยา นอกจากนี้เรายังทำงานร่วมกับ คุณครู คุณพ่อคุณแม่และครอบครัวเด็กๆอีกด้วย 

 

กลุ่มผู้รับบริการมีใครกันบ้าง?


     เด็กทั่วไปที่ต้องการส่งเสริมพัฒนาการ เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า  เด็กกลุ่มออทิสติก เด็กสมาธิสั้น  เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียน  เด็กดาวน์ซินโดรม เด็กบกพร่องทางสติปัญญา  เด็กสมองพิการ เด็กที่มีภาวะโรคทางพันธุกรรมหรือโครโมโซมที่ผิดปกติเป็นต้นค่ะ

     หากคุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ปกครองมีความสงสัยว่า ลูก บุตรหลานของท่านมีอาการ เหล่านี้ เช่น ซน อยู่ไม่นิ่ง ไม่พูด พูดไม่เป็นคำ ไม่สบตา เล่นไม่เป็น ชอบแกล้งเพื่อน เรียนหนังสือช้า เรียนหนังสือไม่ได้ ไม่มีสมาธิ เข้าข่าย ออทิสติก ออทิสติกเทียม ไฮเปอร์ สมาธิสั้น เรียนรู้ช้า ไอคิวต่ำ หรือไม่

     สามารถสอบถามข้อมูลหรือรับคำปรึกษาแนะนำจากนักกิจกรรมบำบัดได้ผ่านทางโทรศัพท์ 083-806-1418 และทาง เพิ่มเพื่อน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะเราเชื่อว่าเด็กๆทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพหากได้รับการฝึกจากนักบำบัดผู้มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน รวมถึงได้รับคำแนะนำอย่างเฉพาะเจาะจงและถูกต้องเหมาะสม

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้